เมื่อผมไปฟังบรรยาย “Journey to Space” presented by U.S. Embassy Bangkok

สวัสดีครับ วันนี้ผมได้รับคัดเลือกจากศูนย์ต่างประเทศเพื่อวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. (International Center for Engineering, KMUTT) ให้ไปร่วมงานบรรยาย “Journey to Space” ซึ่งจัดโดยสถานฑูตอเมริกาประจำประเทศไทยครับ เป็นการบรรยายภารกิจของ NASA โดย NASA Administrator คุณ Charles F. Bolden, Jr. ครับ

เช่นเคยครับ ผมบันทึกเสียงการบรรยายไว้ หากสนใจก็เชิญรับฟังกันได้เลยครับ

ใจความสรุปหลักๆ แบ่งได้เป็น  ประเด็นครับ

  1. NASA แต่เดิมไม่ได้ทำในด้านอวกาศนะครับ แต่เกิดจากการพัฒนาด้านอากาศยานของยุโรปซึ่งเริ่มโดยสองพี่น้องตระกูลไรน์ (แต่แรกอเมริกาก็ไม่สนใจครับ มาเริ่มอีกทีก็ตามหลังเค้าพอสมควร) พอเริ่มสงครามเย็นในฝั่งอวกาศจากการปล่อยสปุตนิค ปธน.ไอเซนฮาวน์ก็เลยริเริ่มให้มีการพัฒนาด้านอวกาศจนเป็นอย่างที่เราเห็นครับ อย่างไรก็ตามการพัฒนาอากาศยานก็ยังไม่ทิ้งครับ และยังทำอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เค้ายกมาก็เช่น Boing 787 ที่เปลี่ยนวัสดุหลักเป็นวัสดุผสมซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม น้ำหนักเบากว่า และประหยัดเชื้อเพลิงในการบิน
  2. การดำเนินกิจกรรมด้านอวกาศแต่เดิมมีนัยยะด้านการแข่งขันในสงครามเย็นด้วยก็เลยแยกกันทำ ต่อมาก็เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานอื่นเพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS ที่มีหน่วยงานทั้งจากอเมริกาเอง รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมันและแคนาดาร่วมกัน และเมื่อรัฐบาลหันไปให้ความสนใจในด้าน Climate change เพิ่มขึ้น การสำรวจอวกาศระยะหลังจะเป็นแนวส่งยาน/หุ่นยนต์ไปสำรวจหรือการทดลองใน ISS เพื่อพัฒนาองค์ความรู้มาใช้บนโลก และเริ่มให้เอกชนดำเนินการด้านอวกาศบ้าง ชเ่น SpaceX เป็นต้น
  3. การส่งมนุษย์ขึ้นไปอาศัยในดาวดวงอื่นยังเป็นสิ่งที่ต้องขบคิดอีกเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับสภาพมนุษย์ที่เกิดและอยู่ในพื้นที่ที่แรงดึงดูดโลกเป็น 1G ไปอยู่ในที่ที่มีแรงดึงดูดต่างออกไปซึ่งมนุษย์ทั่วไปไม่ได้รองรับรูปแบบดังกล่าว การอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีกัมมันตภาพรังสีซึ่งต่างจากโลก การพัฒนาให้มนุษย์สามารถมีชีวิตรอดได้ในระหว่างการเดินทางและอยู่บนดาว ที่สำคัญที่สุดคืองบประมาณในการดำเนินการนั้นสูงมาก การจะทำอะไรต้องทำด้วยความรอบคอบและได้รับอนุมัตจากสภาคองเกรสซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังมีการผลักดันกันอยู่เรื่อยๆ (มีการพูดถึงการระดมทุนแบบ Crowdfunding ด้วย ซึ่งวิทยากรเองก็บอกว่าเป็นไปได้ แต่ในมูลค่าที่สูงมากก็ต้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่เอาด้วย)
  4. การพัฒนาด้านกล้องโทรทรรศน์อวกาศอย่าง Hubble ทำให้การศึกษาอวกาศทำได้ดีกว่าที่เคยเป็นมาบนพื้นโลก อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคหากจะต้องทำกล้องที่ใหญ่กว่าเดิมไปโคจรเป็นดาวเทียมซึ่งการขนอุปกรณ์สำเร็จไปคงไม่ใช่หนทางที่ดีนัก การสร้างเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่สามารถพิมพ์อุปกรณ์แล้วติดตั้งได้เลยดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า นอกจากนี้ การส่งยานอวกาศไปก็ยังช่วยให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่เคยคิดถึงได้มาก่อน เช่นการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะแคระพลูโต (มีแซวว่าเด็กๆ ที่อเมริกาโกรธมากที่พลูโตกลายเป็นดาวเคราะแคระ) เป็นต้น

ตอนท้ายวิทยากรพูดถึงการมีส่วนร่วมที่เราสามารถทำได้ ขอเพียงทำทุกอย่างที่เราทำได้เมื่อมีเวลาในทุกที่ที่เราอยู่ (Do all you can with what you have in the time you have in the place you are. — Nkosi Johnson)

สิ่งที่ผมประทับใจอย่างหนึ่งในการบรรยายครั้งนี้คือแม้วิทยากรจะเป็นถึง NASA Administrator แต่เขาไม่ถือตัวเลย (ถึงกับตั้งกฎเลยว่าอยากรู้อะไรให้ถามขัดจังหวะได้เลย และไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นคำถามโง่ๆ หรือไม่) เข้าถึงทุกคน เป็นอะไรที่ผมไม่ค่อยได้เห็นบ่อยๆ นัก ทำให้การบรรยายไม่น่าเบื่อเลยครับ

สุดท้ายนี้ผมต้องขอบคุณสถานฑูตอเมริกาประจำประเทศไทยและศูนย์ต่างประเทศเพื่อวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เป็นอย่างสูงครับที่เปิดโอกาสให้ผมได้เข้าร่วมครั้งนี้ครับ

รูปถ่ายคุณ Charles Bolden ที่ได้รับแจกหลังเลิกงาน

รูปถ่ายคุณ Charles Bolden ที่ได้รับแจกหลังเลิกงาน

เมื่อวันที่ 1 กันยายน นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เกือบ 200 คนมาเยี่ยมสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อฟังการบรรยายเรื่อง “…

Posted by U.S. Embassy Bangkok on Tuesday, September 1, 2015

เช่นเคยครับ สงสัยหรืออยากพูดคุยอะไรเชิญได้ที่ Comment ได้เลยครับ