เมื่อผมไปฟังเสวนา กสทช. พบ Blogger และชาวเน็ต #DTV4All

สวัสดีครับ วันนี้ผม ในฐานะชาวเน็ตได้เข้าร่วมงาน “กสทช. พบ Blogger และชาวเน็ต : กับดิจิตอลทีวี” จัดโดย กสทช. และ ThaiPBS ณ ห้อง SkyRoom ชั้น 17 อาคารใบหยก 2 แน่นอนครับว่า เป็นการพูดคุยถึงเรื่อง Digital TV ที่ กสทช. และ MUX หลักอย่าง ThaiPBS กำลังผลักดันให้เป็นจริงให้จงได้

นอกจากตัวผมแล้ว ยังมี Blogger ชื่อดังหลายท่านร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้ง Blognone อย่าง @lewcpe กับ @markpeak, @kafaak, คุณชายอดัม (หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล) รวมทั้งนักข่าวหลายแห่งทั้ง Nation, สทท. อีกด้วยครับ

ในงานจะแบ่งเป็น 3 ช่วงหลักครับ คือช่วงอภิปรายถาม-ตอบ แต่ละท่านจะได้รับ Post-it ไว้เขียนคำถามให้วิทยากรข้างบนตอบ ช่วงที่สอง ขึ้นไปชมห้องส่งของ ThaiPBS และสายอากาศส่งสัญญาณบนดาดฟ้าตึก และช่วงสุดท้ายเป็นการรับประทานอาหารร่วมกันและพูดคุยนอกรอบครับ

ช่วงที่ 1 : อภิปราย ถาม-ตอบ

ผมได้บันทึกเสียงช่วงนี้ไว้ รับฟังได้บน browser นะครับ ส่วนใครอยากฟังไฟล์เต็มก็ดาวน์โหลดได้ครับ

ช่วงแรกเป็นการพูดถึงการสื่อสารเกี่ยวกับ Digital TV ที่ไม่ถูกต้องของนักข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักหนังสือพิมพ์ในช่วงที่มีประเด็นช่อง 3 จอดำ มีการพูดถึงในประเด็นเช่นการให้บริการที่ไม่พร้อม เป็นต้น ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการดำเนินงานไฟตามแผนการตามช่วงๆ ไป อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตและ blogger กลับมีความรู้ความเข้าใจทั้งในแง่ของข้อมูลทางเทคนิค ไล่เรียงเหตุการณ์และข้อเท็จจริงได้จนเป็นที่กระจ่าง กสทช. จึงหวังว่าการอภิปรายครั้งนี้ชาวเน็ตและ blogger จะได้พูดคุยและขยายผลต่อไปให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้องได้ต่อไป

ต่อไปนี้คือ ถาม-ตอบบางส่วนจากผู้เข้าร่วมที่ส่งกันเข้ามานะครับ ฉบับเต็มรับฟังได้จาก audio ด้านบนได้เลย

Q: ทำไม กสทช. เรียงเลขช่องที่แตกต่างกันในระบบภาคพื้นดินกับภาคดาวเทียม/เคเบิลทีวี

A: บางเรื่อง กสทช. ไม่ควรพูด ขอเงียบๆ ไว้ก่อน

(/me ควันไหม้กันเลยทีเดียว)

 

Q: มีการดำเนินการ interactive TV ผ่านระบบ Digital TV แล้วหรือไม่ อย่างไร

A: เรื่องนี้อยู่ในแผนการขั้นต่อไปแล้ว แต่ยังไม่มีข้อกำหนดอย่างชัดเจน ขอให้การดำเนินกิจการ TV หลักลงตัวก่อน คาดว่าไม่เกิน 3-4 ปีต่อจากนี้

 

Q: ประเด็น EPG ที่ไม่ถูกต้องจะดำเนินการอย่างไร แล้วจะเปิด API ให้เว็บไซต์อื่นได้ใช้ด้วยหรือไม่

A: เรื่องของ EPG กสทช. ไม่ได้บังคับให้ทุกช่องทำ เป็นเพียงการขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการช่องต่างๆ ส่งข้อมูลมายัง กสทช. ซึ่งวางระบบและแจกจ่ายข้อมูลให้แต่ละ MUX ส่งต่อให้ผู้ใช้สามารถดูล่วงหน้าได้ 7 วัน แต่ในบางครั้งที่รายการกินเวลาหรือมีรายการกระชั้นชิด EPG ที่ต้องส่งไปล่วงหน้าจึงแก้ตามไม่ทัน อย่างไรก็ตามก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนโดยให้ช่อง Line แจ้งไปยัง MUX ให้แก้ไขที่หน้างานไปก่อน ส่วนเรื่อง API ที่ร้องขอมานั้น เนื่องจากระบบของ กสทช. นั้นเป็นระบบออนไล์อยู่แล้ว ดังนั้นในทางเทคนิคนั้นสามารถทำได้ กสทช. จะรับไว้พิจารณาในระดับนโยบายต่อไป

Q: จากกรณีที่มีบางช่องอาจจะหายไปจาก MUX ของ ThaiPBS นั้น ช่องที่ยังให้บริการอยู่ที่เป็น Standard Definition (SD) จะขออัพเกรดเป็น High Definition (HD) ได้หรือไม่?

A: เป็นที่น่าเสียดายว่าแม้ช่องจะสามารถอัพเกรดเป็น HD ได้ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องความจุของ MUX ที่เต็ม ไม่เพียงพอจะออกอากาศในระบบ HD ได้อย่างมีศักยภาพเพียงพอ แม้จะสามารถใช้ระบบบีบอัดภาพแบบ H265 ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ได้ แต่ STB ที่จำหน่ายในประเทศไทยรองรับแค่ H264 ไม่สามารถใช้ได้ แต่หากเกิดกรณีเช่นนั้นจริง (แม้คุณสุพิญญาจะแนะนำให้ใช้การขายหุ้นหรือเปลี่ยนกรรมการมากกว่าขายใบอนุญาตก็ตาม) อาจจะเปิดให้ประมูลเพิ่มได้ แต่ทั้งนี้เป็นเพียงการพูดภายใน ยังไม่ได้สรุปเป็นทางการ

 

Q: หากเกิดเหตุสุดวิสัยกับตึกใบหยก 2 จนไม่สามารถออกอากาศได้จริงๆ MUX ThaiPBS มีแผนรับมือหรือไม่ อย่างไร?

A: MUX ThaiPBS มีการเตรียมพร้อมรับมือเรื่องดังกล่าวไว้หลากหลายรูปแบบ อาทิเช่นเครื่องส่งสำรอง, ระบบ Backup สัญญาณ (ไล่จากลำดับเรียกใช้ก่อนไปหลัง ได้แก่ดาวเทียม Thaicom, Internet Fiber Optic และ Microwave Link), UPS และ Surge protector (ในใบหยกก็มีเหตุให้ใช้แล้วถึง 19 ครั้ง), สถานีเคลื่อนที่ฉุกเฉิน หรือหากเลวร้ายแบบ 9/11 จริง ThaiPBS ร่วมมือกับ ททบ. ใช้พื้นที่และเสา 120 เมตรของกรมทหารสื่อสาร สะพานแดง ซึ่งเคยใช้เมื่อครั้งออกอากาศ VHF ของ ททบ.5 ในการตั้งสถานีทดแทน โดยจะใช้กำลังต่ำทำหน้าที่เป็นสถานีเสริมในพื้นที่ที่ใบหยก 2 ไม่ครอบคลุม และจะเพิ่มกำลังส่งทันทีหากสถานีใบหยก 2 ใช้การไม่ได้ (ใน SLA ที่แต่ละช่องทำกับ MUX จะต้องการันตีคุณภาพไว้ที่ 99.98% หรือใน 1 จะพลาดได้ไม่เกิน 45 นาที) สำหรับการตั้งความแรงสัญญาณในปัจจุบัน กสทช. กำหนดกำลัง (ERP) ที่สายอากาศไว้ที่ 100 kw แต่ในกรณีของ ททบ. ที่ใช้ความถี่ MUX สูง ก็อุโลมให้เพิ่มกำลังส่งเพื่อชดเชยกับความถี่

 

Q: มีแผนปิดการให้บริการ Analog TV อย่างไร?

A: อสมท. ททบ. สทท. และ ThaiPBS ส่งแผนการปิดมาแล้ว โดย ThaiPBS ประเดิมที่สมุยและไชยปราการก่อน เพราะสมุยมีสถานีภาคพื้นดินเพียงสถานีเดียว จึงมีผู้ใช้ Analog TV ไม่ถึง 10% จึงจะสลับเป็น Digital TV เลย ไม่มีการคู่ขนาน ส่วนที่ไชยปราการ ต้องนำคลื่น Analog ให้ ททบ. ใช้เป็น MUX (เดิมจะเลิกที่อุบลด้วย เนื่องจากติดชายแดน ต้องทำให้สอดคล้องกัน แต่เนื่องจากกระทประชาชนจำนวนมาก จึงต้องเลื่อนออกไปก่อน)
ส่วนความถี่ VHF นั้นจะใช้กับวิยุดิจิตอล (DAB)

-ตึกใบหยก+เสาหลักA1+เสาย่อย-เมื่อ2ปีเต็ม95%เริ่มวัดว่าสัญญาณในอาคารรับได้ไม-เลขยังพูดไม่ได้ เพราะจะทำให้แผนเสีย-ผังรา…

Posted by Magawn19 ให้ข้อมูลข่าวสารโทรคมนาคมและการสื่อสาร on Saturday, July 25, 2015

ช่วงที่ 2 ไปปีนเสา ThaiPBS บนยอดตึกใบหยก 2

ช่วงนี้ บรรยายโดยนายธนกร สุขใส ผู้จัดการฝ่ายข้อมูลและวางแผนวิศวกรรม ThaiPBS (@engineerthaipbs)

ที่ชั้นสูงสุดของตึกใบหยก นอกจากจะมีมุมชมวิว 360° แล้ว ยังเป็นที่ตั้งของห้องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ของ ThaiPBS อีกด้วย (จริงๆ จะมีของช่อง 3 อสมท. และช่อง 7 ด้วย แต่เนื่องจากไม่ได้มาพร้อมกัน เลยแยกกันอยู่)

แผนผังโดยย่อ แสดงการส่งสัญญาณโทรทัศน์บนตึกใบหยก 2

แผนผังโดยย่อ แสดงการส่งสัญญาณโทรทัศน์บนตึกใบหยก 2

ส่วนประกอบหลักจะแบ่งเป็น 4 ส่วนหลัก คือ

  1. ภาครับ จะมีระบบรับสัญญาณที่ส่งมาจาก Studio ของแต่ละ MUX โดยใช้ช่องทางรับสัญญาณ 3 ทาง เรียงตามลำดับการใช้จากก่อนไปหลังดังนี้ครับ
    1. ดาวเทียม Thaicom
    2. CAT Fiber Optic Internet
    3. Microwave Link

    ซึ่งจะผ่านระบบ Seamless switch หากระบบใดล่ม ก็สามารถสลับสัญญาณไปแหล่งที่ยังใช้ได้อย่างรวดเร็วจนไม่รู้สึกว่ากระตุก

    เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมและ Microwave link

    เครื่องรับสัญญาณดาวเทียมและ Microwave link

    เครื่องรับสัญญาณ Fiber Optic internet

    จานดาวเทียมสำหรับรับสัญญาณ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.8 เมตร

    จานดาวเทียมสำหรับรับสัญญาณ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.8 เมตร

  2. ภาคสร้างสัญญาณ
    เมื่อได้รับสัญญาณภาพแล้ว จะสร้างสัญญาณด้วย Exciter และขยายสัญญาณด้วย Power Amplifier ให้แรงตามที่ต้องการ ทั้งนี้ การควบคุมเครื่องส่งจะทำผ่าน TX Controller ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแม้จะสามารถรอบรับในปัจจุบันได้ถึง 8 MUX แต่ตอนนี้ยังใช้จริงแค่ 2 MUX ก่อนจะนำสัญญาณที่ได้เข้า Rigid Line หรือสายนำสัญญาณแบบพิเศษ ข้างในจะประกอบไปด้วยท่อทองแดง 2 ท่อ ทำหน้าที่เสมือนขดลวดเหนี่ยวนำ (L) และตัวเก็บประจุ (C) เพื่อนำสัญญาณเข้า Combiner เพื่อรวมสัญญาณจาก MUX อื่นไปส่งออกรวมกันที่ภาคออกอากาศบนยอดตึก
    ภาคสร้างสัญญาณ ตรงกลางเป็น TX Controller จะเห็นได้ว่า active จริงแค่ 2 จาก 8 MUX

    ภาคสร้างสัญญาณ ตรงกลางเป็น TX Controller จะเห็นได้ว่า active จริงแค่ 2 จาก 8 MUX

    Power Amplifier เครื่องสำรอง

    Power Amplifier เครื่องสำรอง

    ตัวอย่างท่อ Rigid Line

    ตัวอย่างท่อ Rigid Line

    Combiner

    Combiner

  3. ภาคออกอากาศ จะเป็นสายอากาศที่อยู่บนยอดตึกซึ่งใช้ร่วมกันของทุก MUX (แม้ในช่วงแรก อสมท. จะใช้เสาของตัวเอง แต่ภายหลังก็รวมกันใช้)
    สายอากาศบนยอดตึกใบหยก 2

    สายอากาศบนยอดตึกใบหยก 2 ซึ่งใช้ออกอากาศโทรทัศน์ทั้งระบบ analog และ digital รวมกัน

    บันได้ที่ใช้ปีนขึ้นไปจากตัวอาคารไปสู่ชั้นติดตั้งสายอากาศ

    บันได้ที่ใช้ปีนขึ้นไปจากตัวอาคารไปสู่ชั้นติดตั้งสายอากาศ

  4. ภาคไฟฟ้า นอกจากระบบไฟสำรองจาก UPS แล้ว ยังมีระบบปั่นไฟโดยใช้น้ำมัน ซึ่งสามารถออกอากาศเต็มระบบได้อย่างน้อย 3 วันและเพิ่มขึ้นได้หากมีน้ำมันมาเติมเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมี Surge Protector ป้องกันไฟฟ้าไม่พึงประสงค์ทำลายระบบการทำงานอีกด้วย

    ตู้ Surge Protector

    ตู้ Surge Protector เลข 19 บนจอคือจำนวนครั้งที่ไฟฟ้าแรงสูงไม่พึงประสงค์ผ่านเข้ามาในระบบ

สำหรับการให้บริการ ThaiPBS กล่าวว่าการที่คิดค่าให้บริการ MUX ใกล้เคียงกับราคาทุนนั้น แม้ ThaiPBS จะไม่ได้กำไรจากส่วนนี้มากนัก แต่ก็นับเป็นความต้องการที่จะตอบโจทย์ พรบ.ทีวีสาธารณะที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการส่วนนี้ได้ (อย่างไรก็ตาม LOCA และ ThaiTV เองก็ยังไม่ได้จ่ายค่า MUX ให้กับ ThaiPBS แต่อย่างใด ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการยึด Bank Guarantee อยู่) และการให้บริการ Digital TV กลับสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าของการออกอากาศได้อย่างมาก กล่าวคือในสถานีใบหยก 2 นั้นแต่เดิมในระบบ Analog จะใช้ไฟฟ้าเดือนละประมาณ 600,000 – 700,000 บาท แต่พอมาออกอากาศในระบบ Digital TV กลับใช้ไฟฟ้าในการดำเนินการเพียง 60,000 – 70,000 บาท คิดเป็น 10% ของระบบเดิม

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคุณธนกรก็คือ ThaiPBS มีวัฒธรรมที่น่าสนใจคือจะพยายามใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่าที่สุดและพึ่งตนเองเท่าที่ทำได้ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อคราวที่ต้องบำรุงรักษาระบบส่งสัญญาณ หากเป็นที่อื่นอาจใช้บริการของ vendor มาซ่อมบำรุงและคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ ThaiPBS เลือกจะซ่อมบำรุงด้วยตัวเอง ตะกั่วแห้งก็บัดกรีใหม่ Capacitor เสื่อมสภาพก็เปลี่ยน ทำให้ ThaiPBS ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องส่งสัญญาณเลยนับตั้งแต่ก่อตั้ง ITV มาจนถึงปัจจุบัน และก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่หลายอย่าง อาทิเช่นการสร้างวงจร Power Supply ใหม่ที่เหมาะสมต่อลักษณะอากาศของไทย ซึ่งถูกกว่าเกือบร้อยเท่าและคุณภาพก็ดีกว่า การสร้างวงจร Digital Nicam เอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีข้อติดขัดอยู่ 2 ประการ คือ

  1. การศึกษาของไทยเน้นไปที่สร้างคนให้เป็น user มากกว่าจะเป็น inventor ทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นมักเป็นการนำขอเดิมมาต่อยอดมากกว่าการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใหม่
  2. งบประมาณ อุปกรณ์หลายอย่างแม้จะทราบดีว่าผลิตที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถซื้อได้โดยตรงจากผู้ผลิตในประเทศ แต่ต้องไปซื้อที่ผู้จำหน่ายซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงสูงกว่าที่ควรจะเป็น ประหนึ่งทำในไทย ส่งไปปั๊มตราเมืองนอกแล้วนำกลับมาขายในไทย
ระบบออกอากาศ Analog TV

ระบบออกอากาศ Analog TV บริเวณนั้นมีความร้อนสูงมากจนต้องเสริมพัดลม

 ช่วงที่ 3 สนทนา

ช่วงนี้เป็นช่วงของการสนทนากันเอง มีเรื่องที่น่าสนใจหลายอย่างครับ โดยสรุป อาทิเช่น

  • เรื่องที่มีบางช่องออกอากาศในระบบ Must Carry แบบ SD แล้วยังไปออกอากาศระบบ HD บนดาวเทียมอีก มีข้อน่าสนใจว่าช่องนั้นจะทำผิดในเรื่องการออกโฆษณาเกินกว่ากำหนดหรือไม่ รายละเอียดอ่านใน Pantip ครับ มีสรุปแล้ว
  • การจะทำให้ช่องประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่แต่ละช่องจะต้องมี stand point หรือจุดยืนของตัวเองให้ผู้ชมรับรู้ได้ว่าช่องไหนเน้นไปเรื่องใด ยิ่งมี content ที่ตรงเป้าและมีคุณภาพดีก็ยิ่งรุ่ง ซึ่งหลายช่องจับจุดนี้ได้และประสบความสำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงเลย เปรียบเทียบกับบางช่องที่แม้จะมี Content เด่น นำเข้ามาก็จริง แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้อย่างแท้จริงว่ามีจุดยืนอย่างไร ทำให้แม้จะมีคนดู แต่ก็ไม่สามารถต่อกรกับช่องที่ทำอย่างมีจุดยืนแท้จริงได้ (ไม่นับกรณีที่นำรายการกีฬาเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นตัวดึง minimum rating)
  • รายการคู่ซี้ทีวีดิจิตอล ตอนแรกคุณธนกรเป็นแค่ที่ปรึกษารายการ คิดคำถามตอบให้ทีมงาน แต่ตอนหลังด้วยความที่มีข้อมูลทางเทคนิคเยอะ เลยโดนลากมาเป็นพิธีกรเสียเอง และเหตุการณ์ในรายการล้วนเป็นเหตุการณ์จริงทั้งสิ้น ยกเว้นในบางกรณีที่เจ้าบ้านไม่ยอม (เคยเล่าว่าโดนหมาไล่ก็มี) ก็จำเป็นต้องเซ็ตฉากขึ้นมาเอง (ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่นที่อยุธยา ชาวบ้านคิดว่าอยู่ไกลปืนเที่ยงคงรับสัญญาณจากใบหยกไม่ได้ แต่พอเจ้าหน้าที่จัดระบบให้ ก็พากันตื่นเต้น มาดูกันทั้งหมู่บ้านเลยก็มี เป็นต้น)

เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจครั้งหนึ่งนะครับที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนระบบ Digital TV อย่างใกล้ชิด และได้พบปะพูดคุยกับคนในวงการ ทั้งผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้ดูแลกิจการ ต้องขอขอบคุณ กสทช. และ ThaiPBS โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณปิ๊ก คุณสุภิญญา คุณแมว ธนกร และทุกท่านที่มาร่วมงานจริงๆครับ

มีข้อติชม พูดคุย ก็ขอเชิญได้ที่ Comment ด้านล่างนี้เลยนะครับ หรือที่ #DTV4All หรือ #DTVforAll

Blog ของผู้เข้าร่วม