เมื่อผมไปฟังเสวนา Citizenfour : หนัง-คอมพ์-คน-พลเมืองดิจิตอล

สวัสดีครับ

วันนี้ชมรม Documentary club Thai Netizen Network กับ 2600 Thailand จัดเสวนาในเรื่อง Citizenfour : หนัง-คอมพ์-คน-พลเมืองดิจิตอล ที่ SF World Cinema กรุงเทพฯ ครับ เป็นการพูดคุยกันในเรื่องราวของภาพยนตร์ Citizenfour, สิทธิเสรีภาพโดยเน้นไปถึงเสรีภาพการแสดงออกโดยไม่ระบุตัวและความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลและการเข้ารหัสการสื่อสารในระบบอินเตอร์เน็ตครับ

สำหรับบันทึกการเสวนานั้น จริงๆ ผมบันทึกเสียงไว้นะครับ แต่พอกลับมาเปิดดู คุณภาพเสียงแย่มาก ขอรอบันทึกเทปที่มีภาพด้วยจากทาง 2600 Thailand ก่อนนะครับ มีวิดิโอจากประชาไทยแล้วครับ

แต่ถ้าใครมีความสามารถทนฟังเสียงได้ก็ขอเชิญรับฟังครับ ^-^”

Part 1

Part 2

สำหรับเนื้อหาโดยสังเขปของการเสวนา มีดังต่อไปนี้ครับ

ในด้านภาพยนต์ CItizenfour

– ภาพยนต์เรื่อง Citizenfour นำประเด็นเรื่อง Computer&Cyber security และ Privacy ที่รุนแรงมาก เป็นข่าวใหญ่ที่มีคนได้รับผลกระทบเยอะมาก โดยใช้การเล่าถึงเบื้องหลังของกระบวนการจริงที่กว่าจะได้ออกมาเป็นการสัมภาษณ์กับ Edward Snowden โดยใช้การลำดับเรื่องราวและการตัดต่อได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ผู้ชมสนุก ไม่รู้สึกเบื่ออย่าง Doucumentary movie เรื่องอื่น อาทิเช่นตอนที่มีเสียง fire alarm ดังมาเป็นระยะๆ ระหว่างสัมภาษณ์ (แน่นอนว่าเป็นเหตุการณ์จริง) ให้ผู้ชมรู้สึกลุ้นไปกับเหตุการณ์ว่าก๊วนนักข่าวและสโนวเดนจะเผชิญกับตำรวจหรือไม่

– อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังภาคที่สามของ Laura Poitras (และมีภาคที่ 4 ซึ่งถ้าเปรียบ Citizenfour เป็น The lord of the ring ภาพยนต์เรื่อง 1971 ซึ่งเป็นภาคที่  4 ก็คงเป็น The Hobbit เลยก็ว่าได้) ที่เกี่ยวกับเรื่องราวของนโยบายรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายหลังเหตุการณ์ 9/11 อันได้แก่ My country, my country และ The oath (สาบานตน) (ทั้ง 2 เรื่องทำให้เธอโดนขึ้นบัญชีจับตามอง ทั้งฟิล์มและตัวเธอโดนกักตัวที่ ต.ม. อยู่บ่อยครั้งจนต้องย้ายหนีไปที่เบอร์ลิน เยอรมันนี) ซึ่งที่จริงแล้วเธอตั้งใจทำภาพยนต์เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสอดแนมทางดิจิตอลของรัฐบาลโดยเริ่มจากการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาเพื่อรับข้อมูลที่ได้จากการสอดแนม แต่เมื่อได้รับการติดต่อจากสโนวเดนและสัมภาษณ์ดังกล่าว เธอจึงตัดสินใจใช้สโนวเดนเป็นตัวดำเนินเรื่องในที่สุด

ในด้านการเข้ารหัสข้อมูล

– ในโลกนี้แม้จะมีการเข้ารหัสหรือการปกปิดการสื่อสารที่ดีเลิศสักเท่าใดก็มีโอกาสหลุดออกไปสู่โลกภายนอกได้เสมอ แต่ทุกอย่างย่อมมีค่าใช้จ่ายของมัน หากเป็นงานที่สำคัญ มีผลกระทบมากหากหลุดออกไป การลงทุนเข้ารหัสย่อมคุ้มค่าที่จะทำ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาที่จะต้องเข้ารหัสข้อมูล

– การเข้ารหัสที่ดีไม่ได้หมายความว่าข้อมูลจะเป็นความลับอีกต่อไป แต่เป็นเพียงการ “ให้มีที่หายใจบ้าง” หรือประวิงเวลาไปได้แค่ไหน เช่นที่สโนวเดนบอกกับลอราว่าแม้ GPG จะไม่ใช่ bulltproof ที่ปกป้องตัวเองได้ตลอดเวลา แต่ก็พอช่วยประวิงเวลาให้ตั้งตัว/มีอำนาจในการปกป้องตัวได้พักหนึ่ง

ในด้านเสรีภาพและ privacy

– เมื่อเทียบกับความเป็นส่วนตัวกับความมั่นคงของชาติ balance ของทั้งสองเรื่องอยู่ที่ไหน? จริงอยู่ที่แม้เราไม่ได้ทำความผิด ไม่จำเป็นต้องกลัว แต่ความคิดเราเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา เรามีสิทธ์เลือกได้ว่าจะแบ่งปันให้กับใครที่ไหนได้? แม้การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยรัฐบาลจะเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมาย ไม่ใช่การใช้อำนาจเผด็จการหรือทางลัดพิเศษที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์รับทราบหรือพิจารณาก่อนนำไปใช้และเข้าถึงเมื่อใดก็ได้

– เมื่อสโนวเดนติดอยู่ที่สนามบินรัสเซียเนื่องจากโดนถอนพาสปอร์ตเนื่องจากโดนตั้งข้อหาทรยศต่อชาติ (สปาย) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมานับร้อยปี ได้เชิญนักกฎหมายด้านสิทธิพลเมืองและนักสิทธิมนุษยชนโดยใช้ E-mail edsnowden@lavabit.com ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ E-mail ที่เข้ารหัสด้วย SSL ทำให้ทางการสหรัฐฯ ที่กำลังไล่ล่าสโนวเดนขอหมายศาลเพื่อเข้าค้นอีเมล์ที่สโนวเดนใช้อยู่โดยทันที แถมศาลก็เห็นดีเห็นงามด้วย โดยมองว่าเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตาม Lavabit ปฏิเสธที่จะให้ private key ที่สามารถถอดรหัสอีเมล์ได้ เพราะกุญแจนี้นอกจากจะถอดรหัสอีเมล์ของสโนวเดนแล้ว ยังสามารถถอดรหัสของผู้ใช้อื่นๆ ได้ทั้งหมด แม้ Lavabit จะเสนอที่จะสร้างระบบพิเศษเพื่อติดตามอีเมล์ของผู้ใช้แยกกันไป แต่ศาลก็ปฏิเสธเพราะระบบดังกล่าวต้องอาศัยความเชื่อใจกับตัว Lavabit ซึ่งสามารถจะแก้ไข Code เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบได้ ศาลจึงยื่นคำขาดให้ส่ง private key มา แต่เพื่อไม่ให้เสียสัตย์ต่อลูกค้าที่จะปกป้องข้อมูลไม่ให้รั่วไหล ในที่สุดจึงตัดสินใจปิดบริการในวันที่ 8 สิงหาคม 2013

จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่สหรัฐทำตัวเหมือนเจ้าของนาที่พยายามจะจับหนูแค่ตัวเดียว กลับต้องเผานาทั้งนาทิ้ง และการแฉของสโนวเดนและกลุ่มนักข่าวของ The Gardian และ The Washington Post ทำให้รัฐบาลที่มีในรายชื่อโดนสอดแนมทั้ง Brazil, Germany และ Indonesia (อันที่จริงรัฐบาลไทยก็มีในรายชื่อด้วย แต่กลับไม่ได้ใส่ใจอะไรมากเท่าประเทศอื่น) กดดันรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ออกมาจัดการ รวมทั้งตัว Obama เองก็โดนประณามว่าหักหลังคำมั่งสัญญาที่เคยให้สัญญาไว้ ในที่สุดจึงมีการออกกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบการดักฟังทั้งทางปกติและทางลับว่ามีการดักฟังเกินกว่าขอบเขตหรือเกินกว่าเหตุที่สมควรได้ทั้งจากที่มีผู้ร้องเรียนและสงสัยเอง รวมทั้งสามารถให้ความเห็นด้านกฎหมายต่อสภาคองเกรสได้ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดักฟังฯ สำหรับประเทศไทยก็มีการรับปากว่าจะเพิ่มคณะกรรมการในลักษณะดังกล่าว แต่ยังไม่ได้มีเป็นร่างลายลักษณ์อักษรมาจากทั้งคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่อย่างใด

– ในการดักฟังข้อมูลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Social media แม้จะสามารถทำความตกลงกันในรูปแบบรัฐต่อรัฐได้ แต่ในสหรัฐอเมริกา ถ้าไม่ใช่ของพลเมืองสหรัฐอเมริกาก็ไม่จำเป็นทำตามกระบวนการทางกฎหมายแต่อย่างใด

-กรณีของ ดีพโทรต(ผู้แฉความพยายามปกปิดการโจรกรรมพรรคเดโมแครตจนทำให้ ปธน. ริกสันต้องลาออกจากการเป็น ปธน) กับสโนวเดน แม้จะเป็นการแฉรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่อตัวเองทั้งคู่ แต่ต่างกันที่ในยุคของสโนวเดน ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกหนแห่งบนโลก การแสดงข้อมูลจากที่หนึ่งที่ใดก็ส่งผลไปได้ทั่วโลก การหลบหนีหรือปกปิดตัวตนแบบที่ดีพโทรตทำไม่อาจทำได้อีกแล้ว (เพราะถึงปิดไป ไม่ช้า NSA ก็รู้ตัวอยู่ดี ธรรมชาติของโลกเปลี่ยนไปแล้ว) การเผชิญเปิดเผยตัวตนให้เด่นชัดจึงเป็นยุทธวิธีที่ดีกว่า เพราะเมื่อมีคนทรารบตัว หลายคนหรือหลายประเทศก็พร้อมจะปกป้องเขาจากการไล่ล่า

– ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะไม่พูดในสิ่งที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเองได้ เพื่อป้องกันการทรมาณให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ แต่ในไทยไม่มี

– ในประเทศไทย พรบ. คอมพิวเตอร์ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ถอดรหัสข้อมูลได้ แม้หากเจ้าของบอกว่าลืมรหัสผ่านก็จะโดนข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นกัน

– สิ่งที่น่ากลัวอย่างหนึ่งในปัจจุบันคือเอกชนถือครองข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่ารัฐบาล เนื่องจากครอบครองบริการที่เราต้องการใช้มากกว่า ตัวสอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ, Social network ของเอกชน กับไฟฟ้า โรงพยาบาล การประปาของรัฐบาล เป็นต้น (ในสหรัฐอเมริกา แม้ Facebook จะละเมิดเรื่องส่วนบุคคล อาทิเช่นบังคับให้ใช้ชื่อจริง แต่ในรัฐธรรมนูญมองว่าเราสามารถออกจากการใช้บริการของเอกชนได้ แต่ไม่สามารถทำได้กับรัฐ [นั่นหมายถึงการแยกประเทศเลย!] แม้จะมีการออกกฎหมายให้สิทธิ์และเสรีภาพแก่ประชาชน แต่ก็เป็นส่วนของรัฐเท่านั้น)

– มีงานวิจัยเมื่อปี 2000 พบว่าข้อมูลของประชาชนสหรัฐอเมริกา แค่มีรหัสไปรษณีย์ วันเดือนปีเกิด และเพศ ก็สามารถแยกแยะคนออกมาจากกลุ่มคนอื่น (แต่ยังระบุถึงตัวตนไม่ได้) ได้ถึง 87% โดยเฉพาะในรัฐที่มีประชากรน้อยๆ เช่น ALaska สามารถทำได้ถึง 100% ซึ่งในการใช้เป็นข้อมูลทางการแพทย์เพื่อการวิจัยไม่มีการ censor ข้อมูลดังกล่าวออก ยิ่งถ้าใช้ Data Linking (อาทิเช่นในตอนต้นภาพยนต์ที่ให้เชื่อมต่อบัตรเดบิตกับบัตรรถไฟฟ้าก็ระบุได้ว่าเป็นคนยังไง เดินทางไปไหน ซื้ออะไรไปบ้าง ฯลฯ) ก็สามารถทำได้ถึงขั้นระบุตัวตนได้เลย

– สโนวเดนสามารถออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ได้ นอกจากเพราะการเข้าถึงข้อมูลได้และมีใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่แล้ว สื่อมวลชนที่มีความกล้าหาญ ไม่กลัวต่อการจับตามองของรัฐฯ ซึ่งพบในนักข่าวไทยน้อย…

– หากประชานเกิดความตระหนักถึงผลที่จะตามมาและออกมาอย่างน้อยแสดงความคิดเห็นก็สามารถก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ได้ เช่นตอนที่ต่อต้านกฎหมายอัยการศึกไซเบอร์เป็นต้น

ก็นับเป็นการเสวนาที่น่าสนใจมากครับ ได้ความรู้เยอะมาก (ผมนี่จดรัวๆ เลย) และแนวคิดดีๆ จากการเสวนา

ถ้ามีการเสวนาหรือเรื่องราวที่น่าสนใจจะนำมาเล่าสู่กันฟังในครั้งต่อไปนะครับ 😉