เมื่อผมไปดูงานที่ Soft Square

ประตูทางเข้า soft square ฝั่ง 2

ประตูทางเข้า soft square ฝั่ง 2

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมกับเพื่อนๆ อีก 60 คนไปดูงานที่ Soft Square group ที่เมืองเอก ปทุมธานีมาครับ

บริษัทนี้เป็น Software house หรือบริษัทที่ทำหน้าที่ผลิตและดูแล software ที่ผลิตครับ เป็นบริษัทที่เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี 1988 จากพนักงาน 3 คนตอนเริ่ม พัฒนาเป็น 40 คน เริ่มรับงานกับคาร์ฟู เริ่มโกอินเตอร์ จนกลายเป็นบริษัทใหญ่ขึ้นมาในที่สุด

ในช่วงแรก เราได้ไปฟังบรรยายกับคุณราเมศว์ ผู้ก่อตั้งบริษัทฯ สิ่งที่ผมประทับใจอย่างหนึ่งจากการบรรยายคือวิทยากรท่านเล่าเรื่องน่าเบื่อได้อย่างน่าสนใจมากครับ อารมณ์ประมาณเดี่ยวไมโครโฟน (ต่างตรงที่มีแจกตังค์ด้วย แถมแจกทีหลักพันซะด้วย *0* ) ครับ คือเล่าประสบการณ์การทำงานและยก case study ที่เคยทำจริงมา

ขอขอบคุณรูป slide จากอินทัช รูปบรรยากาศบริษัทจากกลุ่ม CPE111 (กลุ่มปิด)และ lecture บางส่วนจากสุทธิวัฒณ์ มา ณ ที่นี้ครับ

ขณะที่คุณราเมศว์แห่ง soft square กำลังบรรยายเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้วย core  5 ประการ

ขณะที่คุณราเมศว์แห่ง soft square กำลังบรรยายเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้วย core 5 ประการ

สิ่งที่ได้จากการบรรยายครั้งนี้ มี 2 อย่างหลักๆ ครับ คือแนวคิดในการทำงานที่นี่ ท่านชูนโยบาย “แตกต่างแต่เหนือกว่า” มาเป็นประเด็นหลักครับ สาระสำคัญคือบางอย่างเราไม่สามารถพัฒนาให้สู้กับคนอื่นได้ แต่เราสามารถเอาชนะและยืนเหนือกว่าได้ด้วยจุดเด่นอื่นที่เรามี ยกตัวอย่างเช่นตอนที่รับงานของคาร์ฟูมาทำตอนที่คาร์ฟูจะมาเปิดกิจการในเมืองไทย คาร์ฟูให้เวลา soft square เพียง 6 เดือนเท่านั้น แม้บริษัทจะไม่มีชื่อเสียงมากนัก certificate ก็ไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่ก็สามารถรับมาผลิตและทดสอบระบบได้ทันเวลา จน software ดังกล่าวก็ได้ใช้งานตลอดการเปิดกิจการของคาร์ฟู (ที่จริง software ตัวนี้เป็นเพียงตัวชั่วคราวก่อนที่ software ตัวหลักจากฮ่องกงจะมา แต่ปรากฎว่า software จากฮ่องกงกลับมีปัญหาความล่าช้าในการทำงาน จนทำให้ software ที่ soft square  ทำไว้ได้ใช้งานต่อจนเลิกกิจการในเมืองไทยเลย) นอกจากนี้ สิ่งที่แตกต่างแต่เหมือนกว่าในกรณีนี้อีกอย่างคือ เค้าทำฟีเจอร์เปลี่ยน interface language ได้ตามต้องการโดยแก้ไขภาษาผ่านฐานข้อมูล ทำให้สามารถใช้ software เดิมกับสาขาประเทศอื่นได้ ตรงนี้เค้ายกตัวอย่างที่เกาหลีใต้ soft square ไม่มีใครรู้เรื่องภาษาเกาหลีเลย แต่ด้วยความสามารถดังกล่าว ก็เลยสามรถแก้ไขภาษาในฐานข้อมูลแล้วใช้งานต่อได้เลย (อย่างไรก็ตาม Document ของ software ก็ไม่มี  License ก็แยกเป็นบริษัทใครบริษัทมัน หลังจากผลิต software ให้แล้ว ก็เลยมีงานด้านการดูแลรักษาและการผ่องถ่ายข้อมูลจากคาร์ฟูไปสู่เจ้าของรายใหม่ต่ออีกด้วย เรียกได้ว่ายิง software ครั้งเดียวได้ตังค์หลายงานเลยทีเดียว)

หากท่านสนใจ concept แตกต่างแต่เหนือกว่า ลองอ่านบทความเรื่อง ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ บริษัท ซอฟต์สแควร์ 1999 จำกัด ดูครับ

รายการแสดงเป้าหมายในการทำงานของบริษัท

รายการแสดงเป้าหมายในการทำงานของบริษัท

อีกเรื่องที่ได้จากการบรรยายคือแนวคิดในการบริหารบริษัทครับ Soft square มีโมเดลในการบริหารที่น่าสนใจคือเค้าจะให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำงาน ให้พนักงานเป็นเสมือนเจ้าของร่วมกัน มีการดูแลจากรุ่นพี่กับพนักงานใหม่เหมือนระบบสายรหัส มีการพัฒนาทักษะทั้งด้านวิชาการและประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอครับ คุณราเมศว์อธิบายใจความว่า จริงอยู่ที่การพัฒนาความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ด้วยความที่เขาไม่อยากให้บริษัทเป็นเพียงนายจ้างกับลูกจ้าง แต่อยากให้เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยที่ฝึกฝนทักษะด้านการทำงานและจรรยาบรรณให้แก่พนักงานทีเพิ่งจบใหม่ ให้พนักงานรู้สึกว่าเขามาเรียนรู้แถมได้เงินด้วย ไม่ใช่มาเป็นลูกจ้างมารับเงินจากบริษัท รู้จักที่จะ “ยืมมือฆ่าคน” และตั้งยุทธศาสตร์แล้วทำจนสำเร็จ จนสามารถเปิดกิจการแตกสาขาย่อยออกไปได้ในช่วงระยะเวลา 7 ปี (โดยบริษัทย่อยที่แตกไป บริษัทใหญ่ก็เข้าไปถือหุ้นส่วนน้อยบ้าง จะเรียกว่าฉลาดแกมโกงคงไม่ผิด 😛 ) (คุณราเมศว์บอกว่า บริษัทที่ดีที่สุดคือบริษัทที่เราสร้างเองกับมือ และคนที่เก่งจริง ไม่ต้องลงไปทำงานเองก็ทำให้งานเสร็จได้ เขาพูดติดตลกว่าเหมือนกับมีผีมาโม่แป้งให้ แค่วางความต้องการกับเงินปึกหนึ่ง วันรุ่งขึ้นก็มาเอาของไปได้เลย) โดยการพัฒนาพนักงานในบริษัทให้มี skill ทั้งด้านวิชาการและการบริหารควบคู่กันไป จนไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้โดยดูจากผลงาน HR ก็ยังกล่าวว่าหลายครั้งที่หัวหน้าทีมก็มีอายุน้อยกว่าลูกน้อง

ผังแสดงระดับขั้นการพัฒนาตำแหน่งในบริษัท

ผังแสดงระดับขั้นการพัฒนาตำแหน่งในบริษัท

และมีการสร้างแรงผลักดันให้พนักงานมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอโดยใช้ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ให้พนักงานรู้สึกว่าการทำงานก็เหมือนการพักผ่อน ทำในสิ่งที่ชอบและท้ทาย งานก็จะออกมาดีเอง มีการเปลี่ยนทีมกันเสมอในแต่ละโปรเจ็กส์เพื่อทำให้พนักงานเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในศักยภาพและผู้ที่ทำงานด้วย ไม่ยึดติดกับคนใดคนหนึ่ง และมีการใช้ระบบพี่สอนน้อง คือให้พนักงานที่มีตำแหน่งสูงพอตามที่กำหนดมีหน้าที่ให้การอบรมหรือสอนพนักงานรุ่นน้องให้มีทักษะ เป็นการกดดันพนักงานรุ่นพี่ให้พัฒนาตนให้เพียงพอที่จะสอนรุ่นน้องได้ทางหนึ่ง ทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

slide ที่พูดถึงลักษณะผู้นำ

slide ที่พูดถึงลักษณะผู้นำ

คุณราเมศว์บอกไว้น่าสนใจอีกอย่างครับว่า ทุกคนไม่ได้มีทักษะการทำงานอย่างมีเจนตคติที่ดีมาแต่แรก แม้มหาวิทยาลัยจะฝึกในด้านความรู้ได้ แต่ทักษะด้านประสิทธิภาพบางอย่าง เช่นการมีจรรยาบรรณ ความอดทน ทักษะความเป็นผู้นำ การรู้จักเลือกใช้คน การมีวัฒนธรรมที่ดี การมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน จะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ฉะนั้น บริษัทต้องเติมเต็มสิ่งนี้ให้พนักงาน เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกับความรู้ เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ความรู้ก็ต้องเปลี่ยน แต่ทักษะเชิงประสิทธิภาพนี้จะติดในสันดานของพนักงานไปชั่วชีวิต

หลังจากช่วงบรรยาย คุณราเมศว์ก็พาไปชมบรรยากาศภายในบริษัทฯ ครับ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดตั้งแต่เข้ามาก็คือ ตัวตึกทำในแบบสไตล์ถึกๆ ไม่ได้ตกแต่งอะไรมากมาย เน้นฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลักครับ  (แต่ก็มีหลายบริษัทละครมาใช้เป็น location ต่างประเทศมาแล้ว ที่รู้ก็เพราะเค้าเปิดโม้ให้ดูตอนพักครับ 😛 ) พื้นที่บริษัทแม้จะชวนให้เดินหลงบ้าง แต่ก็ผ่านการคิดมาค่อนข้างดีครับ เช่นตัวตึก แม้จะเหลือที่ แต่ก็สงวนไว้ เพื่อไม่ให้บ้านข้างเคียงรู้สึกทึบ อากาศก็พยายามทำให้โปร่ง ลมแสงเข้ามาได้ ไม่ฝืนมากจนเกินไป ส่วนภายในตึก ทุกชั้นจะมีทั้งห้องประชุมงานและห้องกึ่งบรรยายสำหรับการอบรมพนักงานหรือสหกิจของมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ส่วนในห้องทำงาน พนักงานจะใช้ notebook เป็นหลักเพื่อความสะดวกในการโยกย้าน และไม่ดูทึบ ให้พนักงานได้พูดคุยได้อย่างสบายใจ

หลังจากซักถามและกล่าวปิดแล้ว เราก็เดินทางกลับกัน ถึงมหาวิทยาลัยฯ กันตอน 1800 โดยประมาณ

ก็นับว่าเป็นการดูงานไม่กี่ครั้งที่ผมคิดว่าคุ้มค่ามากครับ ได้รู้จักคนที่คิดเหมือนๆ กัน และทำจริงๆ จนเป็นรูปธรรม เป็นการเปิดโลกทรรศน์ที่ดีมากเลยสำหรับผม ก็ขอขอบคุณภาควิชา CPE เป็นอย่างสูงครับที่ให้โอกาสมาดูงานที่นี่